การสัก กับความกดดันทางสังคมของผู้หญิงจีน

การสัก คือการเขียนสีและลวดลายต่างๆ บนร่างกาย ซึ่ง รอยสัก อาจคงอยู่ชั่วคราวหรือถาวร การสักของแต่ละวัฒนธรรมมีความหมายเฉพาะตัวต่างกันไป เริ่มต้นมาจากกรีก สักเป็นการทำสัญลักษณ์เฉพาะใบหน้าของทาสและอาชญากร ต่อมาเริ่มแพร่หลายในทวีปยุโรป ประมาณ ค.ศ. 787 การสักบนใบหน้าถือเป็นการลบหลู่ต่อพระผู้เป็นเจ้า

ในประเทศไทย การสัก หรือ สักเลขนั้นเป็นการทำเครื่องหมายที่ข้อมือ เพื่อแสดงการขึ้นทะเบียนเป็นไพร่หลวงที่มีสังกัดกรมกอง แต่ถูกยกเลิกไปในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนที่หน้าผาก หรือการสักท้องแขนใช้กับผู้ต้องโทษจำคุก แต่ยกเลิกในปี พ.ศ. 2475 รวมทั้งการสักยันต์เป็นเหมือนเครื่องรางของขลังตามความเชื่อ เป็นที่นิยมในหมู่คนสองกลุ่ม คือ กลุ่มอันธพาล อาชญากร และพระภิกษุที่คิดจะปกป้องตนเองและผู้อื่นจากสิ่งชั่วร้ายโดยการสักยันต์

ในญี่ปุ่น การสักเรียกว่า Irezumi ซึ่งมีความหมายว่าการเติมหมึก คาดว่าเริ่มปรากฏในประมาณศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 8 การสักจะประทับตาคนกลุ่มต่างๆ เพื่อแบ่งแยกเช่น เพชฌฆาต สัปเหร่อ อาชญากร จนกระทั่งเริ่มมีการสักแบบ Horibari ที่มักจะสักลวดลายต่างๆทั่วร่างกาย และเริ่มแพร่หลายในปี ค.ศ. 1750 โดยนิยมมากในหมู่ Eta ซึ่งเป็นกลุ่มคมฐานะชั้นต่ำที่สุดลวดลายต่างๆมักเป็นจิตรกรรมที่มีชื่อเสียง ตลอดจนเทพเจ้า ตามความเชื่อทางศาสนา และนิทานพื้นบ้าน

การสัก ของศิลปินช่างสักชาวจีน ซ่ง เจี้ยหยิน

เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่ศิลปินช่างสักชาวจีน ซ่ง เจี้ยหยิน ได้สัมภาษณ์ลูกค้าผู้หญิงหลายร้อยคน และโพสต์เนื้อหาในโลกออนไลน์ เป็นเรื่องราวของความทรงจำ ความหวัง และความกลัว ต่อการสัก และแรงกดดันทางสังคม งานออกแบบลายสักของซ่ง มีตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดิน ภาพมดลูกอย่างมีสไตล์ หรือภาพสัตว์เลี้ยงแสนรัก ตามแต่ความต้องการของผู้หญิงที่ต้องการสักลายเหล่านี้บนเรือนร่าง ในประเทศที่เสรีภาพการแสดงออกในความเป็นตัวของตัวเอง ลดลงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การสักกลายเป็นเสมือนการเพิ่มอำนาจทางเรือนกายให้พวกเธอ

“เมื่อคุณเลือกสักแล้ว คุณเลือกภาพที่จะสักบนร่างกาย มันคือการที่คุณลุกขึ้นมาบอกว่า ฉันจะทำอะไรกับร่างกายฉันก็ได้” ซ่ง กล่าว

“ร่างกายของฉันต่างจากคนอื่น การสักเป็นการแสดงออกถึงตัวตนของฉัน”

พรรคคอมมิวนิสต์จีน ควบคุมอิสระทางเรือนกายของผู้หญิงมาโดยตลอด โดยเฉพาะผ่านการใช้กฎหมายคุมกำเนิด อย่างนโยบายลูกคนเดียวที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทางการได้ปราบปรามการเคลื่อนไหวเชิงสตรีนิยมเกือบทุกรูปแบบ รวมถึงจำกัดการทำงานขององค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร จับกุมบุคคลสำคัญ และระงับบัญชีสังคมออนไลน์ ทัศนคติเชิงอนุรักษนิยมดั้งเดิมของจีนนั้น ให้คุณค่าผู้หญิงในด้านรูปร่างและการอุ้มบุตร โดยผลิตซ้ำแนวความคิดเช่นนี้ ผ่านสื่อของรัฐบาลและวัฒนธรรมสมัยใหม่

ซ่ง ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “เฟมินิสต์” หรือสตรีนิยม มองโครงการนี้ของเธอว่า เป็นสารคดีแบบปลายเปิด ที่เธอหวังจะทำให้เสียงของผู้หญิงดังขึ้น และท้าทายวัฒนธรรมเหมารวม

“ฉันอยากเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิง และอยากให้ผู้คนได้เห็นสิ่งที่พวกเขาอยากแสดงออกมา” ซ่ง กล่าว

วิดีโอ “1,000 Girls” หรือ “เด็กหญิง 1,000 คน” มีการดำเนินเรื่องที่เรียบง่าย เริ่มจากการถามคำถามว่า “คุณเกิดราศีอะไร” หลังจากนั้นก็เป็นบทสนทนาที่ผู้ให้สัมภาษณ์แบ่งปันความคิดเกี่ยวกับสุขภาพจิต เพศ ความกังวลที่ต้องอายุมากขึ้น และการเสียชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รัก

เหลียว จิ้งหยี หญิงชาวจีนวัย 27 ปี นั่งอยู่ในสตูดิโอที่รายล้อมด้วยหนังสือ เธอตื่นเต้นมากที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการของ ซ่ง และจะได้สักเป็นครั้งแรก เธอนอนอยู่บนโต๊ะ ถกกางเกงยีนส์ขึ้น แล้วพยายามอดทนกับความเจ็บเมื่อเข็มสักเคลื่อนไปมาบนเรือนร่างของเธอ กลายเป็นรูปคลื่นกระทบฝั่ง และก้อนหินขนาดใหญ่ เธอระบุว่า ได้แรงบันดาลใจที่จะสักลายนี้ จากศาสตราจารย์ที่เธอเคารพที่มหาวิทยาลัย เขาเคยบอกเธอว่าให้เป็น “ดั่งโขดหินที่ไม่มีวันถูกกัดเซาะ”

แม้การสักจะไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมเมืองและย่านที่ร่ำรวยของจีน แต่ปัจจุบัน ผู้หญิงที่สักหลายคนถูกวิจารณ์หนักเรื่องรูปลักษณ์ของพวกเธอ การฆ่าตัวตายของหญิงสาวที่ถูกกลุ่มคนที่เหยียดเพศหญิง วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในโลกออนไลน์ หลังเธอโพสต์รูปที่มีทรงผมสีชมพู ตอกย้ำถึงแรงกดดันทางสังคมที่ผู้หญิงต้องเผชิญ

“หากผู้หญิงไม่ปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับค่านิยมดั้งเดิม เธอจะถูกโจมตี ถูกตามถึงเรื่องศีลธรรม มันคือการเหยียดเพศ ที่ฝังรากอยู่ในความไม่เท่าเทียมทางเพศ ในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด” หลี่เจียง จาง นักเขียนและนักวิพากษ์ทางสังคม กล่าว

ลูกค้าอีกคนหนึ่งของซ่ง เป็นหญิงวัย 30 ปี ที่เลือกสักเป็นลายสายรุ้ง เธอบอกว่าอยากสักมานานตั้งแต่สมัยยังสาว แต่แฟนของเธอขู่จะเลิกกับเธอ หากเธอไปสัก ผู้หญิงอีกคน เป็นแพทย์ที่ขอลายสักเป็นรูปดอกไม้สีม่วงที่คุณปู่และคุณย่าของเธอรัก เธอเปิดใจว่า คนไข้ของเธอหลายคนมองว่า แพทย์ที่สัก “เหมือนมีความรับผิดชอบไม่เพียงพอ”

ซ่ง ระบุว่า เธอประทับใจลูกค้าหญิงวัย 40 ปลายๆ ของเธอคนหนึ่งเป็นพิเศษ หญิงวัยกลาวคนบอกกับเธอว่า “ฉันแก่แล้ว ทำไมฉันจะเป็นตัวเองไม่ได้ ในฐานะแม่ ภรรยา ตอนนี้ ฉันเป็นตัวเองได้หรือยัง”

หนึ่งในลายสักบนเรือนกายของ ซ่ง เอง คือลายสักรูปโซ่ตรวนที่ถูกตัดขาดบนข้อศอกของเธอ ลายสักนี้เป็นการรำลึกถึงหญิงคนหนึ่ง ที่ถูกล่ามโซ่ขังในเพิงไม้ในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งของจีน ข่าวของผู้หญิงที่ถูกล่ามโซ่คนนี้ กลายเป็นข่าวที่สร้างความสะเทือนใจไปทั่วประเทศ

“ฉันเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนควรได้เห็นสิ่งนี้ รวมถึงข้อเท็จจริงว่า เธอถูกบีบบังคับให้คลอดลูกถึง 8 คน มันเป็นเรื่องเศร้าและน่าใจสลาย” ซ่ง กล่าว

“เราต้อสู้กันมานานแล้ว การต่อสู้ของผู้หญิงเพื่อสิทธิที่เท่าเทียม มันนานเกินไปแล้ว”

การสัก

ประเภทของการสัก

  • แฟนตาซี สไตล์- ผสมหลายรูปแบบ เป็นภาพในจินตนาการ เทพนิยาย
  • ทริบอล สไตล์- เป็นลวดลาย เช่นเถาวัลย์ ใบไม้ หรือลายกราฟิก
  • ยุโรป สไตล์- เป็นภาพเหมือนลงแสงเงา คล้ายกับภาพเหมือนบุคคล
  • เจแปน สไตล์- มีลวดลายที่บ่งบอกความเป็นตะวันออก เช่น ปลาคาร์พ มังกร
  • เวิร์ด สไตล์- มีตัวอักษรที่มีความหมาย หรือไม่มีความหมายก็ได้ บางทีก็อ่านไม่รู้เรื่องเช่นงานแนวแอมบิแกรม
  • ไกเกอร์ สไตล์- ลวดลายนามธรรม รวมถึงเฉพาะกลุ่มเช่นฮิปฮอป
  • พังค์ สไตล์- ลายสักไม่เน้นสีสัน ส่วนใหญ่จะเป็นสีดำ
  • ฮาร์ดคอร์ สไตล์- ใกล้เคียงกับ พังค์ สไตล์แต่จะมีความเหมือนจริงมากกว่า
  • อินดี้ สไตล์- ไม่มีแนวทางชัดเจน ขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนตัว

วิธีการสัก

ปัจจุบันการการสักพัฒนาไปมาก เครื่องมือที่เป็นที่นิยมที่สุดเป็นเข็มที่ใช้มอเตอร์ในการทำให้ขยับแทงในผิวหนังลึกระหว่าง0.6-22 มิลลิเมตร เมื่อแทงลงไปหมึกจะแพร่กระจายไปสู่เนื้อเยื่อ ดูดซึมเก็บสะสมไว้ โอกาสที่จะเปิดปฏิกิริยาที่เป็นเชิงลบจากหมึกที่ใช้สักมีน้อยมาก โดยปกติแล้วสิ่งแปลกปลอมจะถูกขจัดจากร่างกายโดยใช้กลไกป้องกันตามธรรมชาติ แต่อนุภาคของหมึกนั้นใหญ่เกินกว่าที่จะถูกขจัดออกไปด้วยกลไกนี้ได้

ขณะเดียวกันการสักอาจจะก่อให้เกิดอันตรายจากการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆ เช่น impetigo, staph infection, cellulitis ตลอดจนปฏิกิริยาจากสีซึ่งสักลงไปปัจจุบันใช้สารที่นิยมใช้เป็นสีหลายชนิดมักเป็นโลหะหนัก เช่น สารปรอท แร่เหล็ก แร่โคบอลด์ สารเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาบางอย่างโดยเฉพาะสารสีแดง (cinnabar) ของโลหะจะพบได้บ่อยที่สุด

การลบรอยสัก

  • การผ่าตัดออก(SURGICAL EXCISION) เหมาะในรายเป็นรอยสักที่มีขนาดเล็ก หรือเป็นจุดๆ จะได้มีแผลที่มีขนาดเล็ก แต่ในรายที่มีรอยสักขนาดใหญ่ อาจจะใช้ตัวขยายเนื้อ (TISSUE EXPANSION) ช่วยเหลือได้
  • การกรอผิวด้วยเครื่องกรอผิว(DERMABRASION) ในรายที่เป็นรอยสักมืออาชีพ การใช้การกรอผิวอย่างเดียว หรือร่วมกับการใช้เกลือแกงบริสุทธิ์จะช่วยให้ได้ผลดี ซึ่งในรายที่สักตื้นๆ การกรอผิวมากกว่าสองครั้งสามารถให้ได้ผลดีแผลเป็นน้อย ซึ่งในการทำครั้งที่สอง ควรจะรอประมาณ 3 ถึง 6 เดือน
  • การลอกด้วยสารเคมี(CHEMICAL PELING) มักใช้กรดบางชนิด หรือสาร PHENOL ทำให้เกิดเป็นรอยแผลไฟไหม้ขึ้นบริเวณรอยสัก แต่วิธีนี้มักจะมีผลแทรกซ้อนสูง จึงไม่ค่อยใช้กัน
  • การสักเพิ่มขึ้น(OVERTATTOOING OR RETATTOOING)
  • การลบด้วยไฟฟ้า(ELECTRIC CAUTERY)
  • การลบด้วยเครื่องเลเซอร์(LASER BEAM) ที่นิยมใช้กันได้แก่ Q-SWITCHEDND-YAG และ Q-SWITCHED RUBY LASER ซึ่งมักจะได้ผลดีในรายที่เป็นสีน้ำเงิน และดำ ซึ่งวิธีนี้ได้ผลดี และมีผลข้างเคียงเช่นกัน ได้แก่ ผิวหนังเป็นรอยริ้ว หรือเป็นรอยด่างขาว

การสัก ถึงจะทำให้เกิดเป็นรอยที่ใช้เป็นสิ่งที่ลงโทษและแบ่งชนชั้นในสังคม แต่เมื่อได้ผ่านการขัดเกลาและพัฒนามานานหลายปี การสักก็กลายเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งที่วิจิตรและสะท้อนให้เห็นตัวตนของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี และมีการสักหลายประเภท ทั้งสักแบบลวดลาย ตัวอักษร ไม่เน้นสีสัน หรือผสมผสาน ขณะเดียวกันการสักอาจจะก่อให้เกิดอันตรายจากการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆ ได้

ที่มา

https://www.bbc.com/thai/articles/cjj6eppwgj7o

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%81

https://www.pexels.com/th-th/photo/6709614/

https://www.pexels.com/th-th/photo/1784272/

 

ติดตามอ่านข่าวรอบโลกได้ที่  maclochdesigns.com